เพลงจอมราชจงเจริญ
“เพลงจอมราชจงเจริญ”
คือชื่อเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาติ เพลงแรกของสยาม
ซึ่งในอดีตตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สยามได้ใช้เพลงประโคมอย่างโบราณแทนเพลงสรรเสริญพระบารมีเพื่อใช้เป็นเพลงถวายพระเกียรติ และเครื่องประโคมที่สำคัญได้แก่ มโหระทึก สังข์ แตรงอน ปี่ไฉน กลองชนะ และอื่นๆ
ต่อมาเมื่อขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นยุคทองของการเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่ง เพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างไทยที่ใช้การประโคมเป็นอันต้องยุติบทบาทลง เนื่องด้วยการรับวัฒธรรมอย่างฝรั่งซึ่งมีที่มาจากช่วงปีพ.ศ.2394 ได้มีครูฝึกทหารชาวอังกฤษชื่อ Impey เดินทางเข้ามาเพื่อทำหน้าที่ฝึกทหารในวังหลวง ต่อมาทหารอังกฤษอีกนายหนึ่งชื่อ Thomas Knox ก็ได้เดินทางเข้ามาและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าทรงให้ทำหน้าที่ฝึกทหารในวังหน้า ทั้งคู่เป็นผู้ที่นำเพลง “God Save The Queen” ซึ่งถือเป็นเพลงถวายพระเกียรติพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษมาใช้ในกรุงสยาม แต่มีการประพันธ์เนื้อร้องใหม่เป็นภาษาอังกฤษเพื่อถวายพระเกียรติรัชกาลที่ 5 ซึ่งปรากฎหลักฐานสำคัญอยู่ในหนังสือ Siam Recorder
ต่อมา พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)ได้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นใหม่เป็นภาษาสยามตามฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพโดยได้ตั้งชื่อเพลงขึ้นใหม่ว่า “จอมราชจงเจริญ” ตามเนื้อความดังต่อไปนี้
“ความศุข สมบัติทั้ง บริวาร
เจริญ พละปฏิภาณ ผ่องแผ้ว
จง ยืนพระชนม์นาน นับรอบ ร้อยแฮ
มี พระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์เพี้ยงจันทร์”
จนกระทั่งขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปรและเกาะชวาในปี พ.ศ.2414 ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่สิงคโปร ซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ทหารอังกฤษจึงได้ใช้เพลง God Save The Queen บรรเลงเป็นเพลงถวายพระเกียรติรับเสด็จแบบเดียวกับที่ใช้ในกรุงสยาม ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จถึงเมืองปัตตาเวีย เกาะชวา ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของฮอลลันดา ทหารฮอลลันดาจึงทูลถามพระองค์ว่าจะให้ใช้เพลงอะไรบรรเลงเพื่อเป็นเพลงถวายพระเกียรติรับเสด็จ พระองค์จึงทรงสั่งให้บรรเลงเพลง God Save The Queen เช่นเดียวกับในกรุงสยาม ทหารฮอลลันดาจึงทูลถามอีกครั้งว่า สยามมิได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ทำไมจึงใช้เพลง God Save The Queen
เมื่อพระองค์ทรงได้ยินเช่นนั้นก็ตกพระทัย และสั่งมิให้มีการบรรเลงเพลง God Save The Queen เป็นเพลงเกียรติยศรับเสด็จนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อเสด็จนิวัติกลับพระนครจึงได้มีการประชุมครูดนตรีเพื่อสรรหาเพลงสรรเสริญพระบารมีแทนเพลง God Save The Queen โดยได้มีการเลือกทำนองเพลงบุหลันลอยเลื่อน บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเรียกกันว่า “เพลงพระสุบิน” มาใช้เป็นทำนอง และให้เฮวุดเซน (Heutsen) ครูดนตรีในกรมทหารมหาดเล็ก ชาวฮอลันดา เรียบเรียงใหม่ให้ออกแนวดนตรีตะวันตกเพื่อใช้กับแตรฝรั่งไปพลางก่อน
และนี่จึงได้กลายเป็นที่มาของพัฒนาการเพลงชาติไทย
ไล่มาตั้งแต่
“เพลงบุหลันลอยเลื่อน”
“เพลงสรรเสริญพระบารมี”
“เพลงชาติมหาชัย”
และ “เพลงชาติฉบับพระเจนดุริยางค์”
Comments
Posted in เบ็ดเตล็ด