ds WordThai Blog | เวิร์ดไทยบล็อก

เพลงสรรเสริญพระบารมี

February 11th, 2016 by admin

เพลงสรรเสริญพระบารมี

เพลงสรรเสริญพระบารมีเดิมถูกใช้เป็นเพลงชาติ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 เพลงสรรเสริญพระบารมีก็ไม่ได้ถูกใช้ในฐานะเพลงชาติอีกต่อไป แต่ใช้เป็นเพลงเพื่อถวายความเคารพแก่องค์พระมหากษัตริย์ของไทย

เพลงสรรเสริญพระบารมีเดิมทีเป็นเพลงที่ประพันธ์คำร้องโดย ปโยตร์ ชูรอฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) นักประพันธ์ชาวรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. 2431 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงนิพนธ์เนื้อร้องประกอบและได้ออกบรรเลงครั้งแรกที่ศาลายุทธนาธิการในปีเดียวกัน ต่อมาทรงนิพนธ์เนื้อร้องของเพลงนี้อีกหลายเนื้อร้องเพื่อขับร้องในกลุ่มต่าง ๆ กัน เช่น ทหาร นักเรียนชาย นักเรียนหญิง เป็นต้น แต่มีเนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีอีกสำนวนหนึ่งที่เป็นพระนิพนธ์ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สำนวนนี้เป็นสำนวนสำหรับทหารเรือขับร้องโดยเฉพาะ

เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับปัจจุบันนั้น เดิมทีเป็นเนื้อร้องที่พระองค์ได้นิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีลงสรงของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำเพลงสรรเสริญพระบารมี มาพระราชนิพนธ์คำร้องขึ้นใหม่ โดยทรงรักษาคำร้องเดิมเอาไว้เกือบทุกอย่าง ยกเว้นแต่ทรงเปลี่ยนคำร้องในท่อนสุดท้ายว่า ฉะนี้ ให้เป็น ชโย และประกาศใช้ ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2456 และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สรรเสริญพระบารมี

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพลงสรรเสริญพระบารมีไม่ได้ใช้ในฐานะเพลงชาติไทยอีกต่อไป แต่ยังคงใช้ในฐานะของเพลงถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์ มีอยู่ช่วงหนึ่งมีการตัดทอนเพลงนี้ให้สั้นลง แต่ได้ยกเลิกการใช้แล้ว

Posted in เบ็ดเตล็ด | Comments Off on เพลงสรรเสริญพระบารมี

เพลงจอมราชจงเจริญ

February 6th, 2016 by admin

“เพลงจอมราชจงเจริญ”

คือชื่อเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาติ เพลงแรกของสยาม

ซึ่งในอดีตตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สยามได้ใช้เพลงประโคมอย่างโบราณแทนเพลงสรรเสริญพระบารมีเพื่อใช้เป็นเพลงถวายพระเกียรติ และเครื่องประโคมที่สำคัญได้แก่ มโหระทึก สังข์ แตรงอน ปี่ไฉน กลองชนะ และอื่นๆ

ต่อมาเมื่อขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นยุคทองของการเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่ง เพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างไทยที่ใช้การประโคมเป็นอันต้องยุติบทบาทลง เนื่องด้วยการรับวัฒธรรมอย่างฝรั่งซึ่งมีที่มาจากช่วงปีพ.ศ.2394 ได้มีครูฝึกทหารชาวอังกฤษชื่อ Impey เดินทางเข้ามาเพื่อทำหน้าที่ฝึกทหารในวังหลวง ต่อมาทหารอังกฤษอีกนายหนึ่งชื่อ Thomas Knox ก็ได้เดินทางเข้ามาและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าทรงให้ทำหน้าที่ฝึกทหารในวังหน้า ทั้งคู่เป็นผู้ที่นำเพลง “God Save The Queen” ซึ่งถือเป็นเพลงถวายพระเกียรติพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษมาใช้ในกรุงสยาม แต่มีการประพันธ์เนื้อร้องใหม่เป็นภาษาอังกฤษเพื่อถวายพระเกียรติรัชกาลที่ 5 ซึ่งปรากฎหลักฐานสำคัญอยู่ในหนังสือ Siam Recorder

ต่อมา พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)ได้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นใหม่เป็นภาษาสยามตามฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพโดยได้ตั้งชื่อเพลงขึ้นใหม่ว่า “จอมราชจงเจริญ” ตามเนื้อความดังต่อไปนี้

“ความศุข สมบัติทั้ง บริวาร
เจริญ พละปฏิภาณ ผ่องแผ้ว
จง ยืนพระชนม์นาน นับรอบ ร้อยแฮ
มี พระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์เพี้ยงจันทร์”

จนกระทั่งขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปรและเกาะชวาในปี พ.ศ.2414 ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่สิงคโปร ซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ทหารอังกฤษจึงได้ใช้เพลง God Save The Queen บรรเลงเป็นเพลงถวายพระเกียรติรับเสด็จแบบเดียวกับที่ใช้ในกรุงสยาม ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จถึงเมืองปัตตาเวีย เกาะชวา ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของฮอลลันดา ทหารฮอลลันดาจึงทูลถามพระองค์ว่าจะให้ใช้เพลงอะไรบรรเลงเพื่อเป็นเพลงถวายพระเกียรติรับเสด็จ พระองค์จึงทรงสั่งให้บรรเลงเพลง God Save The Queen เช่นเดียวกับในกรุงสยาม ทหารฮอลลันดาจึงทูลถามอีกครั้งว่า สยามมิได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ทำไมจึงใช้เพลง God Save The Queen

เมื่อพระองค์ทรงได้ยินเช่นนั้นก็ตกพระทัย และสั่งมิให้มีการบรรเลงเพลง God Save The Queen เป็นเพลงเกียรติยศรับเสด็จนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อเสด็จนิวัติกลับพระนครจึงได้มีการประชุมครูดนตรีเพื่อสรรหาเพลงสรรเสริญพระบารมีแทนเพลง God Save The Queen โดยได้มีการเลือกทำนองเพลงบุหลันลอยเลื่อน บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเรียกกันว่า “เพลงพระสุบิน” มาใช้เป็นทำนอง และให้เฮวุดเซน (Heutsen) ครูดนตรีในกรมทหารมหาดเล็ก ชาวฮอลันดา เรียบเรียงใหม่ให้ออกแนวดนตรีตะวันตกเพื่อใช้กับแตรฝรั่งไปพลางก่อน

และนี่จึงได้กลายเป็นที่มาของพัฒนาการเพลงชาติไทย
ไล่มาตั้งแต่
เพลงบุหลันลอยเลื่อน
เพลงสรรเสริญพระบารมี
“เพลงชาติมหาชัย”
และ “เพลงชาติฉบับพระเจนดุริยางค์”

Posted in เบ็ดเตล็ด | Comments Off on เพลงจอมราชจงเจริญ

เพลงบุหลันลอยเลื่อน

February 2nd, 2016 by admin

เพลงบุหลันลอยเลื่อน

เพลงบุหลันลอยเลื่อน
“บุหลันลอยเลื่อน” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งพระองค์ทรงเป็นศิลปินที่มีพรสวรรค์ทั้งทางด้านกวีนิพนธ์และการดนตรีที่ชำนาญการเป็นเยี่ยม ยากจะหาผู้ใดมาเทียบ  พระองค์ทรงโปรดซอสามสายมากเป็นพิเศษ ถึงกับโปรดให้ยกหรืองดเก็บภาษีอากรส่วนใดก็ตามที่ที่มีต้นมะพร้าวชนิดพิเศษที่ใช้ผลทำกะโหลกซอสามสาย ทรงสร้างซอสามสายด้วยพระองค์เองไว้หลายคันมีอยู่คันหนึ่งโปรดมากพระราชทานนามว่า “ซอสายฟ้าฟาด” และโปรดทรงซอนี้เสมอในเวลาว่างพระกิจยามราตรี ถ้าไม่ร่วมวงก็มักทรงเดี่ยวตามลำพังพระองค์เอง จนกระทั่งเกิดเป็นเพลง “บุหลันเลื่อนลอยฟ้า” ขึ้นในคืนวันหนึ่ง
ซอสายฟ้าฟาด

ในคืนวันนั้นหลังทรงซอสามสายจนดึกแล้วเสด็จเข้าที่บรรทมทรงพระสุบินว่า “พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในสถานที่แห่งหนึ่ง ตามปรากฏในพระสุบินนิมิตนั้นว่า เป็นสถานที่สวยงามอย่างยิ่งจนไม่มีที่แห่งใดในโลกเสมอเหมือน  ทอดพระเนตรเห็นดวงจันทร์ค่อยๆลอยเคลื่อนเข้ามาใกล้พระองค์ทีละน้อยๆและสาดแสงสว่างไปทั่วบริเวณ ทันใดนั้นปรากฏเป็นเสียงทิพยดนตรี แว่วกังวานหวานไพเราะเสนาะพระกรรณเป็นอย่างยิ่ง พระองค์เสด็จทรงประทับทอดพระเนตร และทรงสดับเสียงดนตรีอันไพเราะอยู่ด้วยความเพลิดเพลินพระราชหฤทัย จากนั้นดวงจันทร์ก็ค่อยๆลอยถอยเลื่อนเคลื่อนห่างออกไปในท้องฟ้า  พร้อมทั้งสำเนียงเสียงทิพยดนตรีนี้นก็ค่อยๆเบาจางห่างจนหมดเสียงหายไป
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พลันเสด็จตื่นบรรทมแม้เสด็จตื่นรู้พระองค์กระจ่างแจ้งแจ่มพระทัย แล้ว สำเนียงดนตรีในพระสุบินยังแว่วกังวานพระโสตอยู่ จึงโปรดให้ตามมหาดเล็กเจ้าพนักงานการดนตรี เข้ามาต่อเพลงไว้ในยามราตรีนั้นเอง พระราชทานนามเพลงว่า “เพลงบุหลันลอยเลื่อน หรือเพลงบุหลันลอยฟ้า” หรือบางทีเรียกกันว่า “เพลงทรงพระสุบิน” และเคยเรียกว่า “เพลงสรรเสริญพระจันทร์” เพราะเคยใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีมาสมัยหนึ่ง ต่อมาเกิดเพลงสรรเสริญพระบารมีทำนองสากล จึงเรียกเพลงนี้ว่าเพลงสรรเสริญพระจันทร์ เป็นเพลงสรรเสริญบารมี(แบบ)ไทย ซึ่งเคยใช้บรรเลงเป็นเพลงชาติไทยในสมัยหนึ่ง

“กิดาหยันหมอบกรานอยู่งานพัด
พระบรรทมโสมนัสอยู่ในที่
บุหลันเลื่อนลอยฟ้าไม่ราคี
รัศมีส่องสว่างดังกลางวัน
พระนิ่งนึกตรึกไตรไปมา
ที่จะแต่งคูหาสะตาหมัน
ป่านนี้พระองค์ทรงธรรม์
จะนับวันเคร่าคอยทุกเวลา
ครั้นล่วงเข้ายามดึกสงัด
สงบเงียบเสียงสัตว์ทุกภาษา
วังเวงวิเวกวิญญาณ์
พระนิทราหลับไปในราตรีฯ”

Posted in เบ็ดเตล็ด | Comments Off on เพลงบุหลันลอยเลื่อน

เพลงชาติไทย

February 1st, 2016 by admin

เพลงชาติไทย แต่ละ version

เพลงชาติไทย

1. “เพลงจอมราชจงเจริญ” เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ.2395
ทำนองโดย : ร้อยเอกอิมเปย์ (Impey) และร้อยเอกน็อกซ์ (Thomas G. Knox) นำทำนองเพลง God save the Queen มาใช้
แต่งคำร้องโดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

ความสุขสมบัติทั้งบริวาร เจริญพละ
ปฏิภาณผ่องแผ้ว จงยืนพระชน…มาน นับรอบร้อย แฮ
มีพระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์ เพี้ยง จันทร

2. เพลงทรงพระสุบิน หรือเพลงบุหลันลอยเลื่อน พ.ศ.2414
เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เรียบเรียงโดย เฮวุดเซน (Heutsen)

“กิดาหยันหมอบกรานอยู่งานพัด พระบรรทมโสมนัสอยู่ในที่
บุหลันเลื่อนลอยฟ้าไม่ราคี รัศมีส่องสว่างดังกลางวัน
พระนิ่งนึกตรึกไตรไปมา ที่จะแต่งคูหาสะตาหมัน
ป่านนี้พระองค์ทรงธรรม์ จะนับวันเคร่าคอยทุกเวลา
ครั้นล่วงเข้ายามดึกสงัด สงบเงียบเสียงสัตว์ทุกภาษา
วังเวงวิเวกวิญญาณ์ พระนิทราหลับไปในราตรีฯ”

3. “เพลงสรรเสริญพระบารมี” พ.ศ. 2431
ทำนองโดย : ปโยตร์ ชูรอฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) นักประพันธ์เพลงชาวรัสเซีย
คำร้องเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ข้าวรพุทธเจ้า          เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล        บุญญดิเรก
เอกบรมจักริน          พระสยามินทร์
พระยศยิ่งยง            เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์
ขอบันดาล               ธ ประสงค์ใด
จงสฤษฏ์ดัง             หวังวรหฤทัย
ดุจจะถวายชัย         ชโย

4.”เพลงชาติมหาชัย” พ.ศ. 2475 ใช้อยู่ 7 วัน
ทำนองเพลงมหาชัย
คำร้องของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

“สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ
ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย
เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน วางธรรมนูญสถาปนาพาราใหม่
ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า”

5.”เพลงชาติไทย” พ.ศ. 2475
ทำนองประพันธ์โดยพระเจนดุริยางค์
คำร้องประพันธ์โดยขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)

“แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า
สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา ร่วมรักษาเอกราชชนชาติไทย
บางสมัยศัตรูจู่มารบ ไทยสมทบสวนทัพเข้าขับไล่
ตลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไผท สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราชคือกระดูกที่เราบูชา เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสระเสรี ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย สถาปนาสยามให้เชิดชัย ชโย”

6.”เพลงชาติไทย” พ.ศ. 2477
ทำนองประพันธ์โดยพระเจนดุริยางค์
คำร้องประพันธ์โดยขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)
เพิ่มคำร้องของนายฉัน ขำวิไล

“แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา รวมรักษาสามัคคีทวีไทย
บางสมัยศัตรูจู่โจมตี ไทยพลีชีวิตร่วมรวมรุกไล่
เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไผท สยามสมัยโบราณรอดตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราชคือเจดีย์ที่เราบูชา เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินไทย สถาปนาสยามให้เทอดไทยไชโย
เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต รักษาสิทธิ์อิสระ ณ แดนสยาม
ที่พ่อแม่สู้ยอมม้วยด้วยพยายาม ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา
ถึงแม้ไทย ไทยด้อยจนย่อยยับ ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
ควรแก่นามงามสุดอยุธยา นั้นมิใช่ว่า จะขัดสนหมดคนดี
เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสระเสรี เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย
จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น ว่าไทยมันรักชาติไม่ขาดสาย
มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงชาย สยามมิวายผู้มุ่งหมายเชิดชัยไชโย”

7.”เพลงชาติไทย” พ.ศ. 2482
ทำนองประพันธ์โดยพระเจนดุริยางค์
คำร้องประพันธ์โดยพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)

“ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย”

Posted in เบ็ดเตล็ด | Comments Off on เพลงชาติไทย

เช้าวันทำงานที่ใหม่วันที่สอง

September 18th, 2015 by admin
image

เห็ด

เดินไปทำงานตอนเช้าผ่านเห็ดสองต้นนี้ที่หน้าสโมสรหมู่บ้าน  มันเติบโตได้แตกต่างกับสนามหญ้าดี

Posted in เวิร์ดเพรส | Comments Off on เช้าวันทำงานที่ใหม่วันที่สอง

« Previous Entries